“กัญชง” ไม่ธรรมดา GISTDA เร่งทักถอโอกาสทอง หวังต่อยอดใน “อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ”
นอกจาก “กัญชา” พืชเศรษฐกิจใหม่ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจและตื่นตัวมาก ก็ยังมี “กัญชง” (Hemp) ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับกัญชาในด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แต่ ไม่ใช่พืชที่เป็นสารเสพติดเหมือนกัญชา
โดยกัญชงเป็นพืชที่นิยมนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการถักทอเป็นเครื่องนุ่มห่มและผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้าน รวมถึงยังคุณประโยชน์สารพัด ไม่ว่าจะการนำไปสกัดเป็นยา อาหารเสริม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว น้ำมันจากเมล็ดกัญชง กระทั่งน้ำมันหอมระเหย หรือใช้ถูและนวดเพื่อบรรเทาอาการต่างๆ เช่น ช่วยซ่อมแซมผิว และเสริมสร้างเกราะป้องกันให้ผิวสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นได้ยาวนาน ลดการอักเสบ และป้องกันการเกิดสิว เป็นต้น ล่าสุดอิทธิฤทธิ์ของกัญชง ที่ทำเอาหลายคนถึงกับอึ้ง นั่นคือก้าวไกลไปถึงขั้นนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศได้ ซึ่งขณะนี้ GISTDA กำลังทดสอบเและพัฒนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ทั้งนี้ กัญชงและกัญชา เป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกัน โดยมีถิ่นกำเนิดในเขตอบอุ่น ทางตอนใต้ของแคว้นไซบีเรีย ประเทศเปอร์เซีย (อิหร่านในปัจจุบัน) ทางตอนเหนือของแคว้นแคชเมียร์ของประเทศอินเดีย และในทางตอนเหนือของประเทศจีน สำหรับประเทศไทย ชาวเขาเผ่าต่างๆ ทางภาคเหนือ มีการใช้เส้นใยที่ได้จากลำต้นของกัญชงมานานแล้ว
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ราว 4-5 ปี หากใครเพาะปลูกกัญชงหรือมีไว้ครอบครองก็จะมีความผิด และมีบทลงโทษต่างๆ มากมาย จนกระทั่งเมื่อปี 2560 พืชชนิดนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้สามารถทำการเพาะปลูกได้ในประเทศไทย ทั้งในระดับครัวเรือน และอุตสาหกรรม เฉพาะในพื้นที่ที่กำหนดไว้เท่านั้น โดยจำกัดพื้นที่ 6 จังหวัด 15 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.แม่วาง อ.แม่ริม อ.สะเมิง และอ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงราย 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เทิง อ.เวียงป่าเป้า และอ.แม่สาย จังหวัดน่าน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.นาหมื่น อ.สันติสุข และอ.สองแคว จังหวัดเพชรบูรณ์ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.หล่มเก่า อ.เขาค้อ และอ.เมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เฉพาะใน อ.เมือง และจังหวัดตาก เฉพาะที่ อ.พบพระ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกกัญชงในทุกๆ พื้นที่ รวมทั้งกรุงเทพมหานคร แต่ต้องมีการยื่นคำร้องขออนุญาตปลูกกัญชงในพื้นที่นั้นๆ และผู้ที่ได้รับอนุญาตจะต้องมีแผนการผลิต แผนการจำหน่าย และการนำไปใช้ประโยชน์ตามขั้นตอนที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งเมล็ดพันธุ์ที่จะนำมาปลูก และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ประโยชน์เฉพาะตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น กอปรกับการที่ภาครัฐได้มีการเตรียมการส่งเสริม และยกระดับกัญชงให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ด้วยการนำเส้นใยมาใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ จึบทำให้มีการสนับสนุนให้ปลูกกัญชงอย่างแพร่หลายมากขึ้น กระนั้นทุกขั้นตอนต้องได้รับการควบคุมจากภาครัฐ รวมทั้งการตรวจวัดปริมาณสาร THC ของกัญชาที่ปลูกต้องไม่เกิน 1% ต่อน้ำหนักแห้ง เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำกัญชงไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย
นอกจากนี้ จากการที่กฎกระทรวงในด้านการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เฉพาะกัญชง ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 29 มกราคม 2564 เป็นต้นมา ได้ก่อเกิดเป็นงานวิจัยที่มีคุณค่าต่างๆ จำนวนมาก
โดยข้อดีของกัญชงมีอยู่ล้นเหลือ อาทิ “เปลือก” สามารถนำมาแปรรูปเป็นเส้นใยเพื่อทอเสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติเด่นด้านต้านแบคทีเรีย และต้านรังสียูวี หรือผ่านกระบวนการแปรรูปให้เป็นเส้นใยไฟเบอร์ที่มีความบริสุทธิ์ และโดดเด่นด้านความแข็งแรงกว่าเหล็กและทนความร้อนได้สูง หรือหากนำมาบดละเอียดในรูปผง เพื่อผลิตเป็นคอนกรีตก็มีความแข็งแรง ทนไฟ ทนความร้อนได้ดี ในส่วนของ “ใบ” มีปริมานสาร THC (Tetrahydrocannabinol) และ CBD (Cannabidiol) ต่ำเหมาะแก่การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชา ที่ให้รสชาติดี ทั้งยังช่วยผ่อนคลาย ช่วยทำให้นอนหลับง่าย หลับสนิท แก้ปวด บำรุงเลือด


เท่านั้นยังไม่พอ เพราะพบว่าส่วน “ช่อดอก” และ “เมล็ด” เหมาะแก่การสกัดน้ำมัน เพื่อทำยา อาหารเสริม และโภชนเภสัช (Nutraceutical : คำที่เกิดจากการผสมระหว่างคำว่า “Nutrients” หมายถึง สารอาหาร และ “Pharmaceutics” หมายถึงยา) และที่่น่าสนใจเป็นอย่างมากและอาจสร้างความประหลาดใจให้กับหลายคนก็คือ “อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ” โดยมีการผลิตเครื่องบินเล็กจากเส้นใยกัญชงเครื่องแรกของโลกเมื่อปี 2557 โดย Derek Kesek ชาวแคนาดา เจ้าของบริษัท Hempearth ทำให้เรื่องนี้ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง และหลายส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอวกาศยานก็กำลังจับตาอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการวิจัยและพัฒนากันอย่างจริงจัง นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ขณะท่ี่ Hempearth เอง ก็ได้พัฒนาเจนเนอเรชั่นใหม่ของเครื่องบินเล็กจากเส้นใยกัญชง โดยที่นั่งและหมอนไปจนถึงผนังเครื่องบิน ทำจากกัญชงทั้งหมด เมื่อจับคู่กับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันกัญชง ก็จะกลายเป็นการผลิตเครื่องบินที่ยั่งยืนโดยปราศจากสารพิษ และเมื่อเทียบกับวัสดุอากาศยานแบบดั้งเดิม เช่น อลูมิเนียมหรือใยแก้วจะเบากว่า ส่งผลให้ใช้เชื้อเพลิงน้อยลงระหว่างการเดินทาง รอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) จึงต่ำกว่าการผลิตแบบดั้งเดิมอย่างมาก
ภาพจาก Hempearth
ภาพจาก Hempearth


ด้านคุณสมบัติที่แข็งแกร่งของเส้นใยกัญชง มีข้อมูลการผลิตและทดสอบเส้นใยไฟเบอร์ที่ทำจากเส้นใยกัญชงเทียบกับใยไฟเบอร์กลาส ที่ผลการทดสอบปรากฎว่าเส้นใยกัญชงมีความแข็งแรงกว่าเส้นใยไฟเบอร์กลาส 25-30% เทียบต่อน้ำหนัก ทำให้ลดการใช้พลังงานได้ดี และที่สำคัญมีคุณสมบัติดูดกลืนเสียงได้ดีด้วย ส่วนในด้านผลการทดสอบ Tensile Strength หรือการทดสอบแรงดึง แรงกดวัสดุ พบว่ามีความแข็งแรงกว่าหลายเปอร์เซ็นต์ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ Bending Strength หรือการทดสอบแรงดัดงอ มากกว่าไฟเบอร์กลาสถึง 30-35% เลยทีเดียว มิหนำซ้ำยังมีความแข็งแรงกว่าเหล็กหลายเท่า

ดังนั้นในอนาคตการใช้ประโยชน์จากเส้นใยกัญชงในรูปแบบของวัสดุคอมโพสิท FRP (Fiber Reinforced Polymer) จะเริ่มที่ชิ้นส่วนภายในอากาศยานก่อนหรือใช้ผลิตโครงสร้างทั้งหมดของโดรน ทั้งโดรนเชิงพาณิชน์และทางการทหาร หรือโครงสร้างอากาศยานทางทหารที่เป็นเทคโนโลยีล่องหนจากคุณสมบัติดูดซับคลื่นเสียงที่ดี (โดยต้องมีการผลิตทดสอบในหลายๆ ความถี่ เช่น VHF,UHF, L-Band, S-band และX-band เป็นต้น) หรือกระทั่งใช้ลดการแพร่การกระจายรังสีจากเครื่องยนต์ของยานยนต์ทางทหารต่างๆ เพื่อลดการตรวจจับด้วยกล้องรังสีความร้อน เป็นต้น
หากทำได้สำเร็จจะช่วยส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการปลูก แปรรูป และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของกัญชง เกิดการขยายตัวและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน หน่วยงานด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยอย่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของเส้นใยกัญชงเช่นกัน ด้วยการนำเส้นใยกัญชงมาทดสอบหาคุณสมบัติทั้งด้านความแข็งแรงและความทนทาน ตลอดจนคุณสมบัติด้านความถี่และอุณหภูมิ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ด้านโครงสร้างของอากาศยานไร้คนขับ หรือชิ้นส่วนภายในเครื่องบิน ซึ่ง GISTDA มีพันธมิตรด้านนี้อยู่แล้ว หรือหากมีคุณสมบัติที่เข้ากันได้ดีกับการใช้งานบนห้วงอวกาศ ก็เป็นไปได้ที่จะนำไปใช้เป็นชิ้นส่วนในดาวเทียมดวงต่อๆ ไปที่เกิดขึ้นจากการสร้างโดย GISTDA เองและฝีมือคนไทย

ในส่วนของขั้นตอนการทดสอบจะเริ่มอย่างไร ทดสอบที่ไหน พอจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้
ขั้นตอนแรก เริ่มจากการจัดตรียมข้อมูลมาตรฐานการทดสอบด้านคอมโพสิท โดยในเบื้องต้นจะทดสอบ Tensile Strength เป็นอันดับแรก โดยห้องแลป GALAXI ซึ่งได้รับการรับรอง AS9100 (มาตรฐานระบบจัดการคุณภาพที่อิงตามมาตรฐาน ISO 9001 ซึ่งมุ่งเน้นคุณภาพของธุรกิจการบินและอวกาศ ไม่ว่าจะเป็นตัวแทนจำหน่าย องค์กรด้านการบำรุงรักษา หรือผู้ผลิต) ISO17025 (มาตรฐานสากลซึ่งเป็นการประเมินความสามารถทางวิชาการของห้องปฏิบัติการ) และ NADCAP (มาตรฐานของผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ในขอบข่าย Non-Metallic Material Testing หรือการทดสอบวัสดุอากาศยานในลักษณะห้องปฏิบัติการอิสระ) ของ GISTDA จากนั้นเตรียมวัสดุผ้าใยกัญชง (ใยธรรมชาติ) แล้วนำไปขึ้นรูปเป็นแผ่นความหนาตามมาตรฐานทดสอบ ต่อด้วยการตัดและเตรียมชิ้นงานให้ได้ตามมาตรฐานการทดสอบ และนำไปทดสอบ Tensile Strength ก่อนจะสรุปผล เปรียบเทียบคุณสมบัติความแข็งแรง Tensile Strength ของใยกัญชงกับไฟเบอร์กลาส/คาร์บอนไฟเบอร์จากฐานข้อมูล จากนั้นจัดหาและทดลองใช้เส้นใยไฟเบอร์กัญชง (ปัจจุบันในประเทศไทยมีบริษัทที่ผลิตเส้นใยไฟเบอร์จากใยกัญชงคือ บริษัท ก้องเกียรติเทกซ์ไทล์ จำกัด ซึ่งมีโรงงานอยู่ที่จังหวัดสระบุรี) ที่บริสุทธิ์กว่าเส้นใยกัญชงที่ใช้ทอผ้าทั่วไป



บทสรุปผลการทดสอบโดย GISTDA พบว่า หากมีข้อได้เปรียบจริงดังข้อมูลอ้างอิง จะต้องสร้างกลไกในการกระตุ้น การผลิต ตลอดจนการใช้วัสดุสำหรับอุตสาหกรรมการบินและอวกาศให้เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรฐกิจใหม่ของประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ตลาดกัญชงโลกในปี 2563 มีมูลค่าราว 4,748 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะเติบโตอย่างรวดเร็วขึ้นไปแตะ 18,608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2570 หรือเติบโตเฉลี่ย 22.4% ต่อปี พร้อมกันนี้ยังวิเคราะห์ว่าในปี 2564 รายได้จากช่อดอกกัญชงจากการปลูกแบบระบบเปิด (Outdoor) ที่ให้ผลผลิตช่อดอกกัญชงแห้งราว 20-40 กิโลกรัมต่อไร่ อาจจะอยู่ที่ราว 2 แสนบาท – 1 ล้านบาทต่อไร่ เนื่องจากราคารับซื้อที่สูงเพราะผลผลิตที่ยังมีจำกัดเป็นหลัก ขณะที่ต้นทุนการปลูกที่คาดว่าจะต้องใช้เงินลงทุนเบื้องต้น 3 แสนบาท – 1.5 ล้านบาทต่อไร่ ทำให้คาดการณ์ว่าผู้ลงทุนปลูกกัญชงอาจต้องใช้ระยะเวลาคืนทุนราว 4-5 ปี ส่วนในระยะถัดไป รายได้ของผู้ลงทุนปลูกกัญชงอาจทยอยปรับตัวลดลง สืบเนื่องจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะกดดันราคา รวมทั้งความท้าทายจากการแข่งขันโดยเฉพาะกับวัตถุดิบหรือสารสกัดกัญชงจากต่างประเทศเมื่อมีการเปิดให้นำเข้าได้ในอนาคต ดังนั้น ผู้ที่จะลงทุนปลูกกัญชงจึงควรคำนึงถึงประเด็นต่างๆ ให้รอบคอบ

ที่มา https://www.salika.co/2021/06/27/gistda-hemp-aerospace-industry/